Lucky Clover

วันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง


          1. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ แก้มลิง ต่อไป           2. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยอาศัยทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ             3. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง             4. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)




วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การจัดหาและออกแบบโครงการแก้มลิง


     การพิจารณาจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำนั้น ต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุดที่จะยอมปล่อยให้ออกได้ในช่วงเวลาฝนตก โดยสิ่งสำคัญคือต้องจัดหาพื้นที่กักเก็บให้พอเพียง เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในการระบายน้ำ ปัจจุบันมีแก้มลิงทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร กว่า 20 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีคลองจำนวนมาก และระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา

     ทั้งนี้โครงการแก้มลิงแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้คลองที่ตั้งอยู่ชายทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำ ตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

     ส่วนที่สอง คือคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร

       นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมให้เร็วขึ้น โดยใช้หลักการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดการระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทย เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ซึ่งโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 3 โครงการในระบบคือ

1.โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"



2.โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"



3.โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"





      ด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ "โครงการแก้มลิง" จึงเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาวิกฤต และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมรอบกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้เบาบางลงไปได้ โดยอาศัยเพียงแค่วิธีการทางธรรมชาติ


วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประเภทและขนาดของโครงการแก้มลิง

ประเภทและขนาดของโครงการแก้มลิงนั้นมี 3 ประเภท ได้แก่

     ประเภทแรก แก้มลิงขนาดใหญ่ คือสระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้น ๆ โดยจะเก็บกักน้ำไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ การจัดสร้างพื้นที่ชะลอน้ำ หรือพื้นที่เก็บกักน้ำจะมีหลายประเภท อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ มักมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย อาทิ เพื่อการชลประทาน หรือเพื่อการประมง เป็นต้น 



     ประเภทที่สอง แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ได้มีการก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น 


      ประเภทที่สาม แก้มลิงขนาดเล็ก คือ แก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่าอาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง